ย้อนเวลามาเป็นท่านอ๋องน้อย ตอนที่ 1-5

Reader Settings

Size :
A-16A+

เล่มที่ 1 บทที่ 5 ความเป็นมาของท่านพ่อ

เมื่อต้องทำการเจรจากับท่านย่าหลี่ หลี่จงหมิงนั้นมีความกริ่งเกรงอยู่ไม่น้อย เพราะหญิงชราผู้นี้ไม่ค่อยฟังเหตุผล หากฟังไม่เข้าหูแม้เพียงสักประโยคเดียวก็จะเริ่มด่าทอและขับไล่ด้วยไม้กวาด ดังนั้นเมื่อท่านย่าหลี่ออกมาเรียกให้เขาเข้าไปพูดคุยกันในห้อง เขาจึงครุ่นคิดอยู่ในใจว่าจะพูดคุยกันอย่างไรดี
เพียงแต่คาดไม่ถึงว่าทุกอย่างจะง่ายดายถึงเพียงนี้
“ท่านย่าของข้าพูดแล้วว่าหากพวกท่านต้องการนำตัวข้ากลับไปด้วยนั้นย่อมได้ แต่มีเงื่อนไขอยู่สองสามข้อ” หลี่ลั่วเงยหน้าซาลาเปาของเขาขึ้น ยืนอยู่ข้างกายท่านย่าหลี่ เป็นตัวแทนท่านย่าหลี่เพื่อเปิดการเจรจา
“เรื่องที่หนึ่ง ท่านย่าของข้าเลี้ยงดูข้ามาเป็นเวลาสี่ปี ทั้งยังส่งข้าไปเรียนหนังสือ ไม่ว่าจะคุณความดีหรือความลำบากยากเข็ญล้วนมีอยู่ ฐานะของบ้านสกุลหลี่ไม่ดี ดังนั้นเงินชดเชยในส่วนนี้จะขาดไม่ได้”
“เรื่องนี้ไม่มีปัญหาขอรับ เงิน…”
“ตอนนี้ให้เงินจำนวนหนึ่งร้อยตำลึงเงินก่อน จากนั้นทุกปีต้องให้หนึ่งร้อยตำลึงเงินจนกระทั่งมารดาอุปถัมภ์ของข้าสิ้นอายุขัย” หลี่ลั่วพูด
หลี่จงหมิงเดิมทีประสงค์ให้ท่านย่าหลี่เป็นฝ่ายเรียกจำนวนเงินก้อนที่ให้เพียงครั้งเดียว ให้ปีละหนึ่งร้อยตำลึงเงินถือว่ามีความยุ่งยากอยู่ไม่น้อย ทว่าเมื่อได้ใคร่ครวญอีกครั้ง ทุกปีให้หนึ่งร้อยตำลึงเงิน กลับรักษาความสัมพันธ์และการติดต่อระหว่างบ้านสกุลหลี่และจวนโหวไว้ได้ วิธีการนี้ถือว่าดี หมู่บ้านในชนบทมีเงินทองมากเกินไปก็เป็นการไม่ปลอดภัยนัก ถ้าหากในทุกปีมีการติดต่อกับจวนโหว เมื่อมีความสัมพันธ์กับจวนโหว ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่มีเกียรติเรื่องหนึ่งสำหรับบ้านสกุลหลี่ เมื่อคำนวณจำนวนเงินทั้งหมดดูแล้วก็ราวๆ ห้าพันตำลึงเงินเท่านั้น ก็ถือได้ว่าคุ้มค่า ตัวเลขในใจของหลี่จงหมิงที่ประเมินไว้ก็พอๆ กับจำนวนเงินนี้เช่นกัน “ไม่มีปัญหาขอรับ” เขาเป็นตัวแทนของจวนโหวรับปากหลี่ลั่ว
“เรื่องที่สอง…” หลี่ลั่วยื่นนิ้วที่สองออกมา “ทุกปีต้องส่งคนมารับท่านย่าของข้าไปเมืองหลวงหนึ่งครั้ง ให้ข้าได้มีโอกาสแสดงความกตัญญูต่อท่านย่า และจะได้ให้เงินจำนวนหนึ่งร้อยตำลึงเงินแก่ท่านย่าไปในคราเดียว”
“เรื่องนี้ก็ไม่มีปัญหาขอรับ” หลี่จงหมิงตอบ “คุณชายน้อย ท่านเป็นเสี่ยวโหวเหฺยที่เหล่าโหวเหฺยยื่นฎีกาและฮ่องเต้พระราชทานบรรดาศักดิ์ด้วยพระองค์เอง จวนโหวทั้งจวนเป็นของท่าน ดังนั้นท่านว่าอย่างไรย่อมเป็นตามนั้นขอรับ”
ถ้าหากว่าจวนโหวทั้งจวนเป็นของตนเอง เงื่อนไขที่เหลือยังจะต้องกล่าวอีกหรือไร? “ถ้าเช่นนั้นก็ไม่มีปัญหา พวกเราจะออกเดินทางกันเมื่อใด?”
“ตำแหน่งโหวของโหวเหฺยได้ว่างเว้นมาเป็นเวลาสี่ปี ออกเดินทางได้เร็วเท่าไรยิ่งดีขอรับ” หลี่จงหมิงหวังว่าพรุ่งนี้จะสามารถออกเดินทาง “ถ้าเช่นนั้นพรุ่งนี้ท่านกับเหล่าไท่ไท่ก็ใช้เวลาอยู่ด้วยกันอีกสักวัน วันมะรืนค่อยออกเดินทางดีหรือไม่ขอรับ?”
“เช่นนี้ก็ได้ แต่ว่าเงินจำนวนนี้ก็ให้ก่อนเถิด พรุ่งนี้ให้ท่านย่าของข้ากินอาหารดีๆ สักมื้อ” หลี่ลั่วยื่นมือออกมาข้างหน้า
หลี่จงหมิงหัวเราะเบาๆ “อาหารที่กินพรุ่งนี้ผู้น้อยขอเป็นฝ่ายจัดการเองขอรับ” เขาประคองเงินจำนวนสองร้อยตำลึงเงินไว้ในอุ้งมือ ความจริงแล้วสำหรับชีวิตในชนบทเช่นนี้ เงินจำนวนสองร้อยตำลึงเงินนั้นสามารถใช้ได้ทั้งชีวิตเลยทีเดียว
หลี่ลั่วรับเงินจำนวนนั้นมา แล้วส่งให้ท่านย่าหลี่ ตัวเขาเองนั้นไม่อยากอยู่ในสถานที่ที่ทุรกันดารในชนบทเยี่ยงนี้ แต่ในขณะเดียวกันก็มิปรารถนาที่จะทำร้ายจิตใจของหญิงชราผู้น่าสงสารเช่นท่านย่าหลี่ ดังนั้นจึงพยายามคำนึงถึงส่วนได้ส่วนเสียของนาง และรับประกันความปลอดภัยของนาง
หลี่ลั่วรู้สึกว่า เขาได้พยายามหาหนทางตายให้แก่ตนเองถึงสองครั้งสองคราแล้ว ตอนนี้เขาเองไม่มีความกล้าหาญที่จะพยายามฆ่าตัวตายเป็นครั้งที่สาม ยิ่งไปกว่านั้นเขายังมีชาติกำเนิดเช่นนี้ เขาจึงควรต้องมีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่อจะเสวยสุขอย่างเต็มที่สักครั้ง
แต่เขาไม่รู้เลยว่า ความสุขที่เขากำลังจะได้รับนั้นมิได้มาซึ่งความสุขอย่างง่ายดาย
หลี่จงหมิงตามหาหลี่ลั่วมาเป็นเวลาสี่ปี การติดต่อกับทางเมืองหลวงตลอดเวลาที่ผ่านมาคือการเขียนจดหมาย แต่มิใช่เป็นเขาเพียงผู้เดียวที่ออกตามหาหลี่ลั่ว ฮ่องเต้องค์ปัจจุบันเองก็ยังส่งคนข้างกายออกตามหาด้วยอีกสองคน ดังนั้นการกลับเมืองหลวงในครั้งนี้เมื่อรวมหลี่ลั่วด้วยจึงมีทั้งหมดสี่คน
ตอนที่ออกจากบ้านสกุลหลี่ในชนบท พวกเขายังแวะพักอยู่ที่บ้านนายอำเภออีกสองวัน ฮูหยินนายอำเภอได้เรียกตัวช่างเย็บเสื้อมาตัดเสื้อผ้าให้หลี่ลั่วสามชุด ทำให้เขากลับเมืองหลวงได้อย่างสมหน้าสมตา
“ท่านอาหลี่ บ้านที่เมืองหลวงของข้าเป็นสถานที่อย่างไรหรือ?” เมื่อขึ้นรถม้าแล้วหลี่ลั่วก็อดถามด้วยความสงสัยไม่ได้
สองวันมานี้หลี่จงหมิงสังเกตหลี่ลั่วอยู่ตลอดเวลา เขารู้สึกประหลาดใจอย่างยิ่งในความเฉลียวฉลาดและความสุขุมใจเย็นของคุณชายน้อย เมื่อยามที่พักอาศัยอยู่ในเรือนนายอำเภอเขามิได้ถามถึงสถานการณ์ทางเมืองหลวง ทว่ากลับปฏิบัติตนตามความต้องการของฮูหยินนายอำเภอ เล่นอยู่กับคุณชายน้อยทั้งสองของนายอำเภอ จนกระทั่งวันนี้เดินทางกลับเมืองหลวง ขึ้นมาบนรถม้าแล้วถึงไถ่ถามขึ้น และหลี่จงหมิงยังค้นพบอีกว่า คุณชายน้อยท่านนี้เป็นคนที่มีความคิดเป็นของตนเองอยู่ไม่น้อย ซึ่งทำให้เขารู้สึกเหนือความคาดหมายจริงๆ ท่ามกลางสภาพครอบครัวและสิ่งแวดล้อมที่ยากจน ไฉนจึงอบรมเลี้ยงดูเด็กที่ฉลาดเช่นนี้ออกมาได้ ดังนั้นถ้าจะให้พูดแล้ว จำต้องกล่าวว่าเชื้อพันธุ์ของเหล่าโหวเหฺยนั้นเป็นเชื้อพันธุ์ที่ดี
“เรื่องนี้ต้องเริ่มจากจวนจงกั๋วกง [1] ต้นกำเนิดขุนนางสกุลหลี่ในเมืองหลวงขอรับ สกุลหลี่หนึ่งสกุลมีสองจวน เมื่อครั้งเปลี่ยนรัชสมัย สกุลหลี่ติดตามไท่จู่ฮ่องเต้ออกรบ มีความดีความชอบในฐานะของผู้ก่อตั้งราชวงศ์ ฮ่องเต้จึงทรงพระราชทานบรรดาศักดิ์จงกั๋วกงให้ ส่วนท่านปู่ของท่าน หลี่เนี่ยนจู่ เป็นบุตรที่เกิดจากอนุของจวนจงกั๋วกง หลังจากสอบผ่านเป็นบัณฑิตก็ได้แต่งคุณหนูจากครอบครัวขุนนางขั้นเจ็ด [2] แห่งกรมราชทัณฑ์ จากนั้นได้เป็นท่านเจ้าเมืองอยู่ชายแดน เมื่อครบวาระของตำแหน่งหกปีจึงเลื่อนเป็นขุนนางขั้นห้า สามปีให้หลังเมื่อครบวาระตำแหน่งอีกครั้งจึงได้กลับเมืองหลวงเข้ารับตำแหน่งขุนนางขั้นห้าเป็นผู้ดูแลกรมพิธีการ ท่านย่าของท่านครรภ์แรกให้กำเนิดบุตรี ผ่านไปหลายปีก็มิได้ตั้งครรภ์อีก ทำให้บุตรคนโตจากอนุกลายเป็นบุตรชายคนโตของจวนโหวเพราะได้ถือกำเนิดก่อน ต่อมาภายหลังจึงได้ให้กำเนิดบิดาของท่าน ผ่านไปเพียงไม่กี่ปีท่านย่าของท่านก็ถึงแก่กรรม ท่านปู่ของท่านจึงได้แต่งภรรยาใหม่เข้ามา หลังจากนั้นอีกสองปีภรรยาใหม่ก็ได้ให้กำเนิดบุตรชายหนึ่งคน บิดาของท่านมิได้รับความรักและความเอ็นดูจากท่านปู่ของท่าน ด้วยเหตุของอนุห้องข้างและภรรยาใหม่จึงถูกผู้คนรังแก เมื่ออายุได้เพียงสิบขวบก็ออกจากบ้านไปค่ายทหารขอรับ”
———————–
[1] จงกั๋วกง (忠国公) เป็นบรรดาศักดิ์ที่ฮ่องเต้พระราชทานแก่ขุนนางที่มีความดีความชอบต่อแผ่นดินและราชวงศ์ ในเรื่องนี้เป็นตำแหน่งที่ฮ่องเต้ต้นราชวงศ์ประทานให้แก่สกุลหลี่ ปัจจุบันเจ้าของจวนคือพี่ชายของหลี่เนี่ยนจู่ (ปู่ของหลี่ลั่ว) “หลี่เนี่ยนเซียน”
[2] ขุนนางขั้นเจ็ด (正七品) หมายถึงขุนนางขั้นที่ 7 ขุนนางของจีนมีตั้งแต่ขั้นที่ 1-9 (เมื่อเรียงจากระดับสูงไปต่ำเทียบกับตำแหน่งข้าราชการไทยแล้วจะเทียบได้ว่า ขั้น 1 คืออัครมหาเสนาบดี, ขั้น 2 คือเสนาบดี, ขั้น 3 คือรองเสนาบดี, ขั้น 4 คือเจ้าเมืองใหญ่, ขั้น 5 คือเจ้าเมืองเล็ก, ขั้น 6 คือปลัดเมืองเล็ก, ขั้น 7 คือนายอำเภอเล็ก, ขั้น 8 คือปลัดอำเภอ, ขั้น 9 คือเสมียนธุรการ) แต่ละรัชสมัยอาจมีความแตกต่างกัน

คอมเมนต์

Chapter List